วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

โรคชิคุนกุนยา คืดโรคปวดข้อที่มียุงลายเป็นพาหะ

ชิคุนกุนยา แม้ไม่ร้ายแรงถึงตายแต่ก็ทรมานมิใช่น้อย อาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคชิคุนกุนยาคือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบได้หลายตำแหน่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการอาจจะรุนแรงมากจนเคลื่อนไหวหรือขยับข้อไม่ได้เลยจะรู้สึกปวดบริเวณข้ออย่างมาก โรคชิคุนกุนยามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา “Chikungunya Virus” โดยมีพาหะนำโรคคือยุงลาย โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้จักยุงลายในฐานะเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกที่มีอันตรายร้ายแรงต่อผู้ป่วยถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
อาการนำของโรคชิคุนกุนยาจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ความรุนแรงของโรคชิคุนกุนยาจะน้อยกว่าโรคไข้เลือดออก ยังไม่พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นช็อคหมดสติ ข้อแตกต่างระหว่างโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออกนอกจากจะแตกต่างกันในเรื่องระดับความรุนแรงของโรคแล้ว โรคไข้เลือดออกมักจะเกิดกับเด็กหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาแต่โรคชิคุนกุนยาเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนที่เหมือนกันของโรคชิคุนกุนยากับโรคไข้เลือดออกคือมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกัน
อาการปวดข้อจากโรคชิคุนกุนยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทรมานมาก อาการปวดข้อจะหายไปไประยะเวลา 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อซ้ำอีกภายใน 2-3 สัปดาห์และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้ออยู่นานนับเดือนหรือเป็นปี ระยะฟักตัวของโรคชิคุนกุนยาใช้เวลาประมาณ 1-12 วัน แต่ส่วนมากจะเป็น 2-3 วัน ระยะที่มีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 เป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาในกระแสเลือดเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลันและอาจมีอาการร่วมอย่างอื่นเช่น ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นแดงขึ้นตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกระดูก ปวดข้อ
โรคชิคุนกุนยา ยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาโดยตรง ต้องรักษาตามอาการคือถ้ามีอาการไข้สูง อาการปวดข้อก็ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวดและให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นโรคชิคุนกุนยาโดยการทำลายการแพร่พันธุ์ของตัวพาหะนำโรคคือยุงลาย หมั่นตรวจรอบๆบริเวณบ้านอย่าให้มีน้ำขังที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ภาชนะเก็บน้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด ควรนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัดหรือถ้าออกไปทำงานในสวน นอกบ้านก็ให้ทายากันยุงขณะทำงาน กันไว้ดีกว่าแก้...แน่นอนที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น