วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ประเพณีสงกรานต์




ช่วงเวลา


ตามประเพณีเดิมของไทย วันตรุษกับวันสงกรานต์แยกเป็น ๒ วัน คือ วันสิ้นปีทางจันทรคติ ได้แก่ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษ ส่วนวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ คือ วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ มักตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงรวมวันขึ้นปีใหม่มาไว้ในวันที่ ๑ เมษายน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์คำว่า ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือ ตัดปี ขาดปี หมายถึง วันสิ้นปี ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่า ส่งปีเก่าสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้นการย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ทุกปี แต่วันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก





ความสำคัญ


เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย ซึ่งยึดถือสืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว จึงว่างจากการงานประจำ มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองหนึ่ง ๆ แม้ปัจจุบันทางราชการประกาศวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษและสงกรานต์ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยตรุษสงกรานต์ถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนจะถึงวันสงกรานต์จะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวประกวดประขันกัน





พิธีกรรม


วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าเป็นวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องเตรียมงานเป็นการใหญ่จนมีคนพูดกัน "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมเป็นพิเศษ คือ


๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย


๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวนหรือกะละแมในวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งของ ๒ อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญตรุษสงกรานต์เหมือนกับการทำกระยาสารท เพราะนอกจากทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้วยังแลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันในหมู่บ้านใกล้เคียง


๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่าสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีใหม่และต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง


๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน เมื่อทำความสะอาดกุฏิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพื่อให้ดูร่มรื่นชื่นตาชื่นใจของผู้มาทำบุญในวันสำคัญ เพราะต้องใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ เลี้ยงพระ การฟังเทศน์ การก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ บังสุกุลอัฐิ การปล่อยนกปล่อยปลา บางวัดชาวบ้านยังใช้ลานวัดเป็นสถานที่รื่นเริงสนุกสนาน เช่น สาดน้ำและมีการเล่นอื่น ๆ เช่น ช่วงชัย ชักกะเย่อ เข้าทรงแม่ศรี เป็นต้น


การทำบุญถือเป็นกิจกรรมสำคัญในภูมิภาคนั้น ถ้าตรุษกับสงกรานต์ต่อเนื่องกันจะทำติดต่อกันไป แต่ถ้าไม่ต่อเนื่องกันก็จะทำบุญอันเป็นส่วนของตรุษส่วนหนึ่งแล้วเว้นระยะไปเริ่มทำบุญวันสงกรานต์อีกส่วนหนึ่ง แต่ในบางจังหวัดแม้วันตรุษและสงกรานต์อยู่ห่างกันมากน้อยเพียงใด ก็คงทำบุญต่อเนื่องกันจนสิ้นวันสงกรานต์ การรื่นเริงจะเริ่มมีตั้งแต่วันตรุษติดต่อกันไปจนสิ้นวันสงกรานต์ ไม่ว่าวันตรุษและวันสงกรานต์จะต่อเนื่องกันหรือไม่แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร มีการทำบุญและการรื่นเริงกัน เฉพาะในวันมหาสงกรานต์เท่านั้น และมักจะมีวันเดียวกันคือวันที่ ๑๓ เมษายน





การทำบุญ


มีการทำบุญในตรุษสงกรานต์ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา การสรงน้ำพระ การสรงน้ำพระพุทธรูป การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร การรดน้ำผู้ใหญ่ การทำบุญอิฐ การสาดน้ำ การแห่นางแมว





สาระ


๑. เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการที่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปปีหนึ่ง และจะต้องเผชิญกับชีวิตในปีใหม่อีกต่อไปด้วยความไม่ประมาท


๒. เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นไป


๓. เป็นการส่งเสริมความสำนึกในกตัญญูกตเวทีที่แสดงต่อบุพการี และบรรพบุรุษ


๔. เป็นการสืบทอดการละเล่น การละเล่นพื้นเมือง และประเพณีอันดีงาม


๕. มีการชักชวนให้งดเว้นอบายมุข เช่น งดเว้นการดื่มสุราเมรัย การเล่นการพนัน

มรดกทางวัฒนธรรมไทย

ความเป็นไทยที่ควรจะสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ชั่วลูกชั่วหลาน...



ศิลปหัตถกรรมไทยของใช้พื้นบ้านไทยในอดีต ถือเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตในสังคมระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศชาติ แสดงถึงเอกลักษณ์ บ่งชี้ถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการประดิษฐ์ไว้เป็นมรดกของลูกหลานรุ่นต่อไป





มารยาทไทยคนไทยได้รับการปลูกฝังจากบรรพบุรุษ สืบทอดต่อกันมาในเรื่องธรรมเนียมประเพณี ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติระหว่างบุคคล ต่อบุคคลที่สังคมยอมรับ เช่น การทักทายด้วยการกราบไหว้ กริยามารยาทที่เรียบร้อยอ่อนน้อมแบบไทย





วรรณกรรมไทยชาวไทยมีสุนทรียะอยู่ในความคิด มีความสร้างสรรค์อยู่ในสายเลือด เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน วรรณกรรมไทยโบราณ จึงเป็นงานประเภทร้อยกรอง ที่แปรออกเป็นฉันทลักษณ์หลายหลากรูปแบบ ในสมัยอยุธยาวรรณกรรมไทยเจริญสูงสุด สมัยพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี






ประเพณีไทยกิจกรรมที่คนไทยถือปฎิบัติตามความเชื่อ ถือศรัทธาในศาสนา กฎ ระเบียบ จารีตประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดกันมา หลายชั่วอายุคน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง พิธีมงคลสมรส เป็นต้น




ปฎิมากรรมไทยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นด้วยความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธรูปปางต่างๆ หรือตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ของโบสถ์วิหาร



ภาษาไทยภาษาเป็นสิ่งแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของคนในชาติ ชาติไทยเรามีภาษาเป็นของตนเองทั้ง ภาษาพูด และภาษาเขียน พ่อขุนรามคำแหง ทรงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษร และตัวเลขไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.1826 ทำให้คนไทยมีภาษาเขียน เป็นภาษาประจำชาติ



ผ้าไทยบรรพบุรุษของไทยในอดีต มีความชำนาญในการทอผ้า และสร้างลวดลายบนผืนผ้า ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาติขึ้น ลักษณ์ของผ้าไทยจัดเป็นมรดก ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด เนื่องจากลวดลายและเอกลักษณ์ จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น



งานประดิษฐ์ดอกไม้สดบรรพบุรุษไทยได้คิดนำกลีบดอกไม้ ใบไม้ ประเภทต่างๆ มาจับ พับ เย็บ ร้อย หรือกรองประดิษฐ์เป็นลักษณะต่างๆ ให้ได้รูปแบบใหม่ที่แปลกไปจากเดิม และงดงามมาก งานประดิษฐ์ดอกไม้ถือเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เห็นจิตใจที่งดงาม และละเอียดอ่อนของคนไทย



จิตรกรรมไทยเป็นลักษณะภาพ 2 มิติ คือ จัดภาพที่อยู่ใกล้ไว้ตอนล่าง สิ่งที่อยู่ไกลไว้ตอนบน เห็นได้จาก ฝาฝนังตามวัดต่างๆ ภาพเขียน สมุดข่อย เป็นต้น



อาหารไทยอาหารไทยมีมากมายหลายชนิด แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น และมีอาหารขึ้นชื่อของภาคต่างๆ ส่วนประเภทของหวานมีการประดิษฐ์มากมาย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย